พิธีผูกข้อมือตามประเพณีไทย

พิธีผูกข้อมือตามประเพณีไทย

เคล็ดไม่ลับ ! พิธีผูกข้อมือแต่งงาน ตามประเพณีไทย



สำหรับพิธีแต่งงานแบบไทยแท้นั้น ล้วนมีขั้นตอนตามประเพณีที่ซับซ้อนอยู่หลายอย่าง บ่าวสาวหลายคู่ที่กำลังตัดสินใจเข้าพิธีแต่งงาน จึงต้องการเตรียมการพิธีการต่าง ๆ ภายในงาน รวมไปถึงการเตรียมตัว แถมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในการทำงาน อาจจะทำให้ความรู้เรื่องการแต่งงานน้อยลงมากจนกลายเป็นไม่รู้ไปเลย วันนี้ แวะไปหยิบเอาความรู้เกี่ยวกับ "พิธีผูกข้อมือแต่งงาน" มาฝากกันจ้า ส่วนจะมีขั้นตอนแบบไหนบ้างนั้นตามไปดูกันเลยค่ะ ^^

             "พิธีผูกข้อมือแต่งงาน" ส่วน ใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการรับไหว้ผู้ใหญ่ คือ หลังจากบ่าวสาวให้พานธูปเทียนแพแก่ผู้ใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่จึงผูกข้อมือให้ และบางคู่จะเลือกผูกข้อมือ แทนการจัดพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งในพิธีของแต่ละภาคจะมีความแตกต่างกัน โดย "พิธีผูกข้อมือแต่งงาน" มีขั้นตอนและความเชื่อในประเพณีที่แตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น ดังนี้

ภาคเหนือ

             ภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า "พิธีฮ้องขวัญ" (พิธีเรียกขวัญ) และ พิธีผูกข้อมือ ซึ่งมีขั้นตอนด้วยการให้คู่บ่าวสาวมานั่งที่ตั่งเรียบร้อยแล้ว จากนั้นพ่อและแม่เจ้าสาวจะสวมมาลัยให้เจ้าบ่าวเพื่อรับเป็นลูกเขย และพ่อแม่เจ้าบ่าวจะสวมมาลัยให้เจ้าสาวเพื่อรับเป็นลูกสะใภ้เช่นกัน จากนั้นให้ประธานในพิธีแต่งงาน สวมมงคลแฝด และเจิมหน้าผาก และเข้าสู่พิธีการเรียกขวัญ ทำขวัญ หรือพิธีฮ้องขวัญ โดยจะมี "หมอขวัญ" เพื่อนั่งข้างหน้าคู่บ่าวสาว จะใช้เวลาทำพิธีฮ้องขวัญประมาณ 20 นาที พอเรียกขวัญหรือฮ้องขวัญเสร็จแล้ว หมอขวัญจะผูกข้อมือก่อน จากนั้นค่อยให้พ่อแม่, ผู้อาวุโส, ผู้แก่ผู้เฒ่า, ญาติ, เพื่อน และคนอื่นๆ มาผูกข้อมือ และอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่การออกเรือน เมื่อทุกท่านผูกข้อมือครบแล้ว ให้ผู้ที่อาวุโสหรือผู้สวมเป็นผู้ถอดมงคลให้ก็เป็นการเสร็จพิธีผูกข้อมือแบบ ภาคเหนือ

             ภาคกลาง

             พิธีผูกข้อมือแบบภาคกลาง ขั้น ตอนนี้จะเริ่มขึ้นในช่วงทำพิธีรับไหว้ โดยมีวิธีการเริ่มต้นเมื่อพ่อแม่ของฝ่ายชายหรือหญิงไปนั่งคู่กันในที่จัดไว้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งนั่งคู่กันอยู่ในฝั่งตรงข้าม จะกราบลงพร้อมกันที่หมอน 1 ครั้ง แล้วส่งพานดอกไม้ธูปเทียนให้ พ่อแม่ยื่นมือไปรับ กล่าวให้ศีลให้พร หรืออวยพรให้ชีวิตคู่ประสบแต่ความสุข ความเจริญ จากนั้นทำการหยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์เส้นเล็ก ๆ ผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวเป็นการรับขวัญ ส่วนฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมหมอนสำหรับรองกราบสองใบ ขันหรือพานใส่ของสองพาน และสายสิญจน์ผูกข้อมือ 

            โดยบ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพและผ้าไหว้คลานไปหมอบกราบคุณพ่อคุณแม่ทั้งสอง ฝ่าย บนหมอน โดยกราบแบมือสามครั้ง เพื่อฝากเนื้อฝากตัวและแสดงความเคารพ คุณพ่อคุณแม่เปิดธูปเทียนแพ หรือกรวยดอกไม้ อวยพรบ่าวสาว พร้อมมอบซองหรือของรางวัลที่จัดมาให้อาจเป็นเงินสด, เช็ค, ทอง หรือว่าโฉนดที่ดินก็แล้วแต่ ซึ่งของรางวัลเหล่านี้วัตถุประสงค์ คือ เป็นทุนให้บ่าวสาวไว้ใช้ในการเริ่มต้นชีวิตคู่ จากนั้นผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือซ้ายของเจ้าสาวและผูกข้อมือขวาให้เจ้าบ่าว เสร็จแล้วบ่าวสาวช่วยกันยกพานของไหว้มอบให้กับคุณพ่อคุณแม่

                   ภาคอีสาน

            ส่วนพิธีผูกข้อมือในภาคอีสาน เป็น การเข้าพิธีแต่งงานด้วยการนั่งบริเวณหน้าบายศรี และจะมีพระสงฆ์มาสวดมนต์ เพื่ออวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความสิริมงคลในพิธีแต่งงานมาก หลังจากนั้นจะมีญาติผู้ใหญ่มาร่วมผูกข้อมือ ด้วยการเอาด้ายหรือไหมพรหมเส้นเล็ก ๆ มาผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยลำดับของผู้ผูกจากญาติผู้ใหญ่ก่อนจะให้คนอื่น ๆ ขึ้นมาอวยพร พร้อมผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวอีกรอบ

            "การสู่ขวัญกับก่าย" คือ ให้หญิงชายคู่นั้นเข้าพาขวัญด้วยกันเอามือก่ายกัน ให้แขนท้าวก่ายแขนนาง เอาแขนชายทับแขนหญิง เสร็จผูกแขนให้ชายหญิงแล้วเอาไข่มาปอก ใช้เส้นผมตัดตรงกลาง ตรวจดูไข่ว่าเต็มหรือไม่ ถ้าเต็มก็หมายความว่าบ่าวสาวนั้นจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขสมบูรณ์ตลอด แล้วยื่นไข่ครึ่งหนึ่งให้ชาย ครึ่งหนึ่งให้หญิง ชายเอาไข่ของตนป้อนหญิง หญิงเอาไข่ของตนป้อนชาย เสร็จแล้วผู้ชายจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปสมมาพ่อแม่ และบรรดาญาติผู้ใหญ่ของหญิง แล้วฝ่ายชายพากันกลับไปบ้านของตน

            เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับคู่บ่าวสาวสมัยใหม่และไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องพิธีแต่งงานเท่าไหร่ ลองเอาข้อมูลที่เรานำมาฝากเอาไปประยุกต์ใช้ในพิธีแต่งงานของคุณเองได้เช่น กัน

ร้านพิธีไทย ขอขอบคุณ ข้อมูลดีๆ จาก กระปุกดอทคอม นะค่ะ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้