บายศรีที่ใช้ในพิธีกรรม และบายศรีชนิดต่างๆ

บายศรีที่ใช้ในพิธีกรรม และบายศรีชนิดต่างๆ

         พิธีกรรม


1 องค์ประกอบของพิธีกรรม


1.1 พานบายศรี

        พานบายศรี หรือ บายศรีโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ 
    1. บายศรีพิธีหลวงหรือบายศรีหลวง หรือบายศรีของหลวง
    2. บายศรีพิธีราษฎร์

             บายศรีพิธีหลวง คือบายศรีของพระมหากษัตริย์ซึ่งมักจะแยกเป็นองค์บายศรีและพระราชพิธีบายศรีในสมัยโบราณกษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงใช้บายศรีเป็นส่วนประกอบสำคัญในพระราชพิธีต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อเซ่นพระราชพิธีสมโภชพระราชพิธีรับขวัญพระราชพิธีสักการะบวงสรวงพระพุทะรูปและเทพยดาประจำเมืองและพระราชพิธีสำคัญๆต่างๆอีกมากมาย เพื่อใช้เป็นเซ่นไหว้เทพยดาอารักษ์แผ่บารมีให้ประเทศชาติและพสกนิกรได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

โดยทั่วไปบายศรีของหลวงมี 3 ชนิด คือ


ก. บายศรีสำรับเล็ก
มีชั้นบายศรีแก้วบายศรีทองบายศรีเงินซ้อนกัน 3หรือ5 ชั้นขนาดเล็กตั้งบายศรีแก้วไว้ตรงกลางทองทางขวาเงินทางซ้ายของผู้รับทำขวัญซึ่งในแต่ละชั้นจะจัดวางสำรับคาวหวาน ประดับประดาด้วยดอกไม้มงคลใช้ในพิธีการทำขวัญเล็กๆเท่านั้น

ข. บายศรีสำรับใหญ่
มีลักษณะเหมือนบายศรีสำรับเล็ก แต่มีขนาดใหญ่กว่าเพราะใช้ในพิธีใหญ่

ค. บายศรีตองลองทองขาว
คือบายศรีใหญ่ใช้แป้นไม้แกนไม้เป็นทองคำขาวสูง7ชั้นองค์บายศรีจะตกแต่งด้วยใบตองจัดอย่างสวยงามใช้เฉพาะในพระราชพิธีสมโภชขนาดใหญ่


บายศรีพิธีราษฎร์ แบ่งตามลักษณะองค์บายศรีได้ 2 ประเภทคือ


1. บายศรีพิธีราษฎร์ชุดเล็ก ได้แก่ บายศรีปากชามกับบายศรีตอ
2. บายศรีพิธีราษฎร์ชุดใหญ่ ได้แก่ บายศรีเทพ และบายศรีพรหม

    1. บายศรีพิธีราษฎร์ชุดเล็ก


ก. บายศรีปากชาม ลักษณะรูปร่างจะไม่ใหญ่โตมากนักเป็นบายศรีชั้นเดียว 

         วิธีการทำ หาชามงามๆมา1ใบไม่มีฝานำใบตองหรือทางมะพร้าวมาจับจีบพับม้วนกลมเป็นรูปกรวยแหลมทับกันสามแผ่นพับ หรือห้าแผ่นพับ เจ็ดแผ่นพับตามแต่จะทำเป็นสามชุดใส่เรียงในปากชามและมีดอกพุด หรือดอกมะลิ หรือดอกบานไม่รู้โรยก็ได้เสียบยอดส่วนมากนิยมดอกมะลิตัดใบตองเป็นรูปแมงดา 3 ตัวและทำบายศรี 3 ชั้นวางรอบกรวยแหลมตัดเจียนใบตองเป็นแผ่นว่างปากชามสลับไว้ตามช่องว่างบายศรี 3 แผ่นตรงกลางใช้ใบตองทำเป็นกรวยแหลมภายในใส่ข้าวสุก ปากหม้อไว้ข้าวสุกปากหม้อคือข้าวที่สุกใหม่ยังไม่มีใครตักเอาไปและที่ยอดแหลมปลายกรวยจะมีก้านไม้ปลายแหลมปักไว้เพื่อเสียบไข่เป็ดที่ต้มสุกแล้วไข่นี้เรียกว่า ไข่ขวัญ และจัดกล้วย น้ำ แตงกวา ขนม เช่น ฝอยทองวางเป็นกองๆบนใบตองที่เป็นรูปแมงดานั้นเอาดอกไม้เสียบบายศรี 3 ชั้น เอาด้ายสายสิญจน์ขนาดผูกข้อมือได้พาดตามขนมบายศรีจนครบ เรียกว่า บายศรีปากชาม

ข. บายศรีตอ
       

           จะมีลักษณะกรวยแกนกลางเป็นหยวกกล้วยสูงประมาณ1ฟุตมีพานรองฐานตกแต่งนุ่งบายศรีด้วยใบตองพับจับจีบใบตอง ให้เป็นยอดเเหลมเหมือนบายศรีต้น ใช้ไม้เหลาแหลมเสียบปักตัวบายศรีที่ยอดตอกกล้วยที่ตัดไว้ และดอกไม้มงคลเป็นทรงบัวคว่ำหรือบัวหงายและโดยทั่วๆไปตัวองค์บายศรีจะมีชั้นเดียวแต่จะมีองค์ลูกเป็นชั้นๆรอบองค์แม่ และจะนำผลไม้มาว่างสังเวยไว้ในบริเวณช่องว่างระหว่างองค์แม่กับองค์ลูก ในกรวยใส่ข้าวสุกปากหม้อและเอาไข่เป็ดต้มสุกเสียบยอดกรวย เหมือนบายศรีปากชามหรือใช้ดอกไม้สดเสียบยอดกรวยแทนไข่เป็ดต้มสุกก็ได้

2. บายศรีพิธีราษฎร์ชุดใหญ่


ก. บายศรีเทพ
            เป็นบายศรีทรงสูงรองฐานด้วยพานแบ่งองค์บายศรีออกเป็น3หน้าโดยแบ่งตามสัดส่วนของฐานเท่าๆกันการนุ่งองค์ก็แล้วแต่ชั้นขององค์แม่และองค์ลูกแต่จะห่างช่วงกันเท่ากัน2เช่น 9-7,7-5หรือ5-3และบริเวณช่องวางระหว่างองค์แม่และองค์ลูก ก็จะใส่อาหารกับข้าวตอกดอกไม้ไว้เหมือนกับบายศรีปากชาน วิธีการทำพับใบตองเป็น ยอด เเหลมยาวทำเป็น 9 พับซึ่งช่างทำบายศรีชอบเรียกกันว่า 9 หนุ่ม พับทับกันแล้สสูงถึงเก้านิ้วยอดแหลมปักดอกมะลิห้าชุดวางในวงกลมพานเป็นรูปบัวหงายใช้ใบตองทำเป็นกรวยแหลม(ไม่ต้องใส่ข้าวสุกปากหม้อ)ยอดกรวยแหลมเสียบด้วยดอก บัวฉัตร บายศรีเทพใช้ในงานบายศรีสู่ขวัญ

ข. บายศรีพรหม
            มีลักษณะคล้ายบายศรีเทพแต่จะมี 4 หน้า นิยมให้จำนวนชั้นขององค์แม่เป็น16 องค์ลูกเป็น 11ซึ่งว่ากันว่าเป็นรูปแบบทีสวยงามมาก
วิธีการทำ พับใบตองเป็นยอดแหลมยาวเหมือนบายศรีเทพ16 พับซ้อนกันปลายยอดแหลมก็ปักดอกมะลิหรือดอกบานไม่รู้โรยหรือดอกดาวเรือง ทำเป็นสี่ชุดวางรอบในพาน ทั้งตั้งขึ้นและหงายลง (ที่ทำเป็นสี่ชุดคงจะหมายถึงพรหมสี่หน้า)ตรงกลางพานใช้ใบตองทำกรวยแหลม(ไม่ใส่ข้าวสุกปากหม้อ)ปักดอกไม้ที่ยอดกรวย


บายศรีประเภทอื่นๆ


ก. บายศรีใหญ่หรือ บายศรีชั้น
           

                นำใบตองมาหักพันให้มียอดแหลมอย่างยอดกระทงเจิมไว้หลายๆอันถ้าไม่มีใบตองให้ใช้ใบไม้ที่มีลายเป็นสีต่างๆหรือใบพลูแทนก็ได้ใบตองที่พับเป็นยอดแหลมนี้ให้ก้นชนกันเป็นคู่ๆแล้วทำให้โค้งเป็นวงกลมๆอย่างวงกำไลมีขนาดเท่าๆกันเมื่อทำให้โค้งแล้วให้เอายอดแหลมที่ยื่นไปทั้งข้างบนและข้างล่างนี้ตรึงรอบขอบไม้แป้นที่เป็นรูปวงกลมตรงกลางเจาะรูใช้ไม้ยาวเป็นแกนวางไม้แป้นเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้นๆในระยะห่างพอสมควรไม้นี้วางให้ได้ขนาดตั้งแต่ ใหญ่ กลาง เล็กเรียงขึ้นไป 5 ชั้น จะทำ 3ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้นก็ได้ แต่9 ชั้นใหญ่เกินไปเขาไม่นิยมทำกันนอกจากพิธีนั้นเป็นพิธีพิเศษจริงๆไม่นิยมทำชั้นเป็นจำนวนคู่ชั้นเหล่านี้ ใช้วางอาหารขนม ผลไม้ สำหรับเลี้ยงขวัญบนยอดของบายศรีใหญ่ตั้งชามหรือโถขนาดเล็กโดยมากมักใช้ชามเบญจรงค์หรือขันงามๆประดับด้วยพุ่มดอกไม้ต่อจากนั้นก็เอาบายศรีปากชามไว้บนชั้นยอดของบายศรีใหญ่อีกทีหนึ่ง

                บายศรีใหญ่นี้ถ้าทำอย่างดีมากจะต้องแกะสลักเป็นรูปตุ๊กตาซึ่งเป็นเครื่องละครที่รู้จักกันแกะสลักเป็นลวดลายงดงามประดับตามชั้นของบายศรีบางแห่งบายศรีใหญ่ใช้ไม้ไผ่สุกผ่าซีก3ซีกพันด้วยผ้าขาวเอาวางรอบข้างบายศรีผูกเป็นสามเปลาะเพื่อไม่ให้โงนเงน แล้วเอาใบตองอ่อน3ยอดประทับปิดซีกไม้ต่อจากนั้นก็เอาผ้าดีมีราคาเช่นผ้าตาดคลุมรอบบายศรีอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าผ้าห่อขวัญ

                 เครื่องประกอบบายศรีใหญ่ มีขันปักแว่นโลหะสำหรับเวียนเทียนสามใบ ใส่ข้าวสารแล้วเอาแว่นเวียนเทียน ปักไว้ขันละ5แว่นติดเทียนแว่นละ3เล่มปักบนเชิง เรียกว่าเทียนชัย บางแห่งมีเล่มเดียวและต้องหาภาชนะใส่น้ำมันหอมสำหรับควักป้ายใส่เทียน ที่แว่นพานใส่ใบพลูวางซ้อนกันได้ผูกข้อมือหลายเส้นสำหรับใส่วางลงในพานรองใบพลู มะพร้าวอ่อนปอกเปลือก เฉาะปากรองพานมีช้อนสำหรับตักด้วยบางทีอาจมีหัวหมู โต๊ะเงินสำหรับเครื่องอาหารต่างหาก ส่วนมากภาชนะที่ใส่แว่นเวียนเทียนนี้มักใช้จำนวนสามคือ แก้ว ทอง เงิน เรียกว่าบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน

ข. บายศรีต้น

                มีไม้ตั้งเป็นหลักแกนกลางปักไว้ตรงกลางแป้นไม้ แผ่นใหญ่ ไม้แป้นนี้ทำเป็นวงกลมหรือเป็นเหลี่ยมก็มีวางตั้งไว้เพื่อมิให้ล้ม และยังแป้นไม้เป็นรูปวงกลมวางเป็นชั้นๆ ชั้นใหญ่อยู่ล่าง ชั้นเล็กอยู่บน เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับเเป้นไม้วงกลมแผ่นเล็กสุดอยู่ชั้นบน ทำเป็นสามชั้น ห้าชั้น เจ็ดชั้น เก้าชั้น ที่ทำชั้นต่างๆกันช่างทำบายศรีก็ทำตามความประสงค์ของผู้จัดทำใบตอง ที่ทำบายศรี ช่างทำบายศรีก็จับจีบพัด ใบตองให้เเหลมเป็นสามเหลี่ยมยาวซ้อนกันห้าเเผ่นพับ หรือเจ็ดแผ่นพับ หรือเก้าแผ่นพับ สุดแท้แต่ช่างจะทำให้ทางแหลมหงายขึ้นติดรอบแป้นไม้แผ่นกลม และทางแหลมหงายลงติดรอบแป้นไม้แผ่นกลมเหมือนบัวคว่ำบัวหงาย ทำอย่างนี้เหมือนกันทุกชั้น
ปลายยอดแหลมของบายศรี ที่หงายขึ้นและหงายลงก็นิยมใช้ดอกพุด หรือดอกมะลิเสียบที่ปลายยอดแหลมทุกยอด หากไม่มีดอกมะลิก็ใช้ดอกบานไม่รู้โรย สีแดงหรือสีชมพูเสียบปลายยอดแหลมแทนดอกมะลิ รอบวงกลมของแป้นบายศรีก็จะประดับด้วยดอกไม้ดอกใหญ่เช่น ดอกเบญจมาศ หรือดอกดาวเรือง หรือดอกบัวที่พับกลีบแล้วใช้ดอกรักหรือดอกมะลิร้อยเป็นพวงอุบะปลายอุบะก็เป็นดอกกุหลาบแดงหรือดอกดาวเรือง หรือดอกจำปี พวงอุบะก็ติดกับปลายยอด บายศรีที่หงายลงและเเป้นบายศรีแผ่นกลมชั้นที่อยู่สูงสุดก็จะมีบายศรีปากชานวางไว้ที่ต้นบายศรีก็จะมีไม้ไผ่สามดันขนาบ อยู่สามด้านโดยมีสายสิญจน์พันรอบต้นบายศรีสามเปลาะ ไม้ไผ่สามอันที่ขนาบบายศรีนั้น แต่โบราณมาก็นิยมใช้ไม้ไผ่สีสุกเมื่อหาไม้ไผ่สีสุกไม่ได้จึงจะใช้ไม้ไผ่ชนิดอื่นๆแทน

                บายศรีต้นนิยมใช้ทำขวัญนาคมากขึ้นหรือบางคนก็เรียกทำขวัญนาค ว่าสู่ขวัญนาค หรือเชิญขวัญนาคแต่ส่วนใหญ่ มักเรียกกันว่าทำขวัญนาคบายศรีต้นที่ใช้ในงานทำขวัญนาคส่วนมากใช้บายศรีห้าชั้นและมีเครื่องสังเวย ในทุกช่องชั้นของบายศรีส่วนบายศรีต้นสามชั้น นิยมทำกันในงานขวัญจุกและบายศรีต้นเจ็ดชั้นนิยมใช้ในงานทำขวัญนาคที่เจ้านาคจะบวชนั้น เป็นข้าราชการบายศรีต้นเก้าชั้น นิยมใช้ทำสำหรับทำขวัญนาคที่เป็นลูกหลานเจ้าพระยาหรือผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเเละปัจจุบันนี้เจ้าพระยาหรือผู้มีบรรดาศักดิ์สูงก็ไม่มีอีกแล้วแต่บายศรีต้นทุกชั้นก็นำมาใช้ในงานขวัญร่างทรงเทพ

 

 

ขอบคุณภาพบายศรีจาก บายศรีสยาม

 

 

บายศรีชนิดต่างๆ

พานบายศรีที่พบเห็นในปัจจุบัน

บายศรีสู่ขวัญภาคเหนือ บายศรีชั้นเดียวขนาดใหญ่ จัดประดิษฐ์ในขันน้ำพานรอง ใช้ในพิธีสู่ขวัญของชาวภาคเหนือประกอบด้วย ตัวบายศรี 6 ตัว และดอกไม้ใบไม้มงคลสีสันสดใส

บายศรีสู่ขวัญภาคอีสาน บายศรีขนาดใหญ่ จัดประดิษฐ์ใส่ในภาชนะขนาดใหญ่เช่นโตกโดยซ้อนเรียงกัน 3 ชั้น ใช้ในพิธีสู่ขวัญของชาวอิสานประกอบด้วย ตัวบายศรีชั้นละ 6 ตัว แต่ละชั้นจะลดหลั่นกันพองาม ชั้นบนมีพุ่มยอดบายศรี

บายศรีตอ
บายศรีชั้นเดียว ใช้ในงานพิธีบวงสรวง สังเวยบูชาครูช่างแขนงต่างๆ ประกอบด้วย หยวกกล้วยสำหรับทำบายศรี ตัวบายศรี แมงดา เข็มขัด กรวยข้าว ไข่ต้ม และกล้วยน้ำว้า

บายศรีปากชาม บายศรีขนาดเล็ก ใช้ในงานพิธีบวงสรวง สังเวย และอาจใช้ตั้งเป็นส่วนประกอบบนชั้นยอดของบายศรีใหญ่ประกอบด้วยตัวแมงดา กรวยใส่ข้าว กล้วยน้ำว้าผ่าสามเส้าและไข่ต้มบนยอดกรวยบวงสรวง

บายศรีต้น 3 ชั้นใช้เป็นเครื่องสมโภช สังเวยในพิธีมงคลต่างๆ หรือสู่ขวัญในพิธีสมรสของชั้นหลานเจ้านายฝ่ายเหนือใช้ใบตองพับเป็นกลีบหน้านาคตัดกับต้นกล้วยเป็น 3 ชั้น คาดเข็มขัดมาลัยแบน ตกแต่งด้วยดอกไม้สด

บายศรีสู่ขวัญบางกอกบายศรีขนาดใหญ่ จัดประดิษฐ์ในภาชนะรูปพานซ้อนกัน 5 ชั้นใช้ในพิธีสู่ขวัญ สมโภชของชาวภาคกลาง 
ประกอบด้วยตัวบายศรีชั้นละ 5 ตัว แต่ละชั้นลดหลั่นกันมีพุ่มกรวยยอดบายศรี ตกแต่งด้วยดอกดาวเรือง บางทีเรียกว่าบายศรีดาวเรือง

บายศรีพรหมบายศรีชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีต่างและพิธีของราษฎร สำหรับเป็นเครื่องสังเวย
บูชาครูบาอาจารย์ชั้นพรหม ประกอบด้วยตัวบายศรีชั้นขึ้น 4 ตัว ลง 4 ตัว มีกรวยใส่ข้าวและดอกไม้มงคล

บายศรีเทพบายศรีชั้นเดียวขนาดใหญ่ทรงพุ่ม ใช้ในพระราชพิธีต่างๆและพิธีของราษฎร สำหรับเป็นเครื่องบวงสรวง สังเวยบูชาเทวาอารักษ์ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวบายศรีเป็นทรงพุ่มและดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล

บายศรีสู่ขวัญกำแพงเพชรบายศรีขนาดใหญ่ จัดประดิษฐ์ในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใช้ในพิธีสู่ขวัญ สมโภช และบูชา
พระบรมธาตุ ประกอบด้วยตัวบายศรี และกำแพงแก้วทุกชั้น ดอกไม้ใบไม้มงคล

บายศรีต้น 7 ชั้นใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระราชอาคันตุกะชั้นประธานาธิบดี เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บายศรีต้นกลีบหน้านาคแต่ละชั้นจะประดับด้วยดอกบัวใช้ในพิธีสมโภชพระพุทธรูป 

บายศรีต้น 9 ชั้นใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในพิธีหรือพระราชพิธีที่เป็นมงคลต่างๆ ในภาพเป็นบายศรีกลีบบัวหลวง ตกแต่งด้วยอุบะ ดอกจำปาฐานเป็นฟักทองแกะสลัก

บายศรีต้น 5 ชั้นใช้ในพิธีต่าง ๆ สำหรับเจ้านายที่ทรงกรมหรือเสนาบดีบายศรีต้นนี้เป็นบายศรีที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บายศรีตอง-
รองทองขาว ซึ่งแต่ละชั้นของบายศรีจะบรรจุด้วยขนมหวานหรือดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล

 

  บายศรีภาคกลาง ภาพจาก kanchanapisek.or.th

 

เครดิต ข้อมูล จาก sites.google.com/site/kmsaengthammnat/prawati-khwam-pen-ma

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้