บทสวดสู่ขวัญ และโอกาสในการจัดพิธีกรรม ที่ใช้พานบายศรี

บทสวดสู่ขวัญ และโอกาสในการจัดพิธีกรรม ที่ใช้พานบายศรี

บทสวดสู่ขวัญ และโอกาสในการจัดพิธีกรรม

บทสวดสู่ขวัญ


ก. คำไหว้พระ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( 3 ครั้ง )
สาธุ ธูปะ ทีปะ คันธมาลา อัคคีทิฆัง พฆุปุปฝัง สุคนธัง วะรัง ปูเชมะ ชิเน กัตตวา สิติกัปปักโก ติโย อภิรูโป มหาปัญโญ ปุริปัญโญ ทาเรนโด ปิตก ตัยยัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง พุทธะบูชา เตชะวันดา ธรรมบูชา ปัญญาวันตา สังฆบูชา โภคควันตา ตินนัง รัตตานานัง วรัง ปูเชมะ ยัง ยัง ชะนะปะทัง ญาติมิกขัง มิรา ลัททาปิโย ลัพพถะ ปูชิโต โหติ สัพพะ โสภี ภวันตุเต

ข. การป่าวเทวดา
สัคเคกาเมจะรูเป ศิริสิขะระตะเต จันทะริกเข วิมาเน ทีเปรัตเถจะ
คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิเขตเต พรหมมา จะยันตุเทวา สะระถะระวิสะเม ยังคะคันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระ วะจะนัง สาธะโวเม สุณันตุ ธัมมัสสะ วะนะกาโร อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโร อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโร อะยัมภะ ทันตา

ค. การวิดฟาย
สาธุเดอ น้ำอันนี้ได้ชื่อว่า น้ำอมฤต ประสิทธิ์จากพระสังฆะเจ้าเก้าพระองค์ท่าน ก็ได้ทรงพระธรรมคำสอน ใส่ในน้ำอันนี้จึงได้ชื่อน้ำอำมฤตปู่พระเจ้าให้ข้าวิดข้าจึงได้วิด ยาพระเจ้าให้ข้าฟายข้าสิได้ฟาย ๆ ไปไฮ่ ผีเชื้อไฮ่อยู่ป่าคาก็ให้มากินเสีย ฟายไปน้ำผีเชื้อน้ำอยู่ปาฮูก็ให้มากินเสีย ฟายเมื่อภูเทวดาอยู่เค้าไม้ ก็ให้มากินเสีย เมื่อมิดฟายหลายน้ำอำมฤตก็บ่อมาก น้ำอมฤตแตกพากออกจากกัน ผันธุลีกันไปทุกแห่ง แบ่งกันไปทุกฝ่ายย้ายกันไปทุกก้ำ เม็ดหนึ่งตกไปก้ำทางอีสานงัวอยู่ ขอให้เจ้านี้จงมีบริวารหลายพร่ำพร้อม โอมอ่อนน้อมขวัญเข้านำมา เม็ดหนึ่งตกไปก้ำบูรพาตะวันออก บอกว่าให้เจ้านี่จงมีสติปัญญาเหมือนพระเจ้ามะโหสถ ให้เจ้ามีใจอดใจเพียรเหมือนพระเจ้าเตเม เม็ดหนึ่งตกไปก้ำอาคะเนพื้นขอให้เจ้านี้จงมีเคหาอันใหญ่กว้าง....

ตัวอย่างคำกล่าวผูกแขน


     ผูกก้ำซ้ายให้ขวัญมา ผูกก้ำขวาให้ขวัญอยู่ ว่ามาเยอขวัญเอยขวัญเจ้า ไปกินปลาข่อนอยู่หัวนา ก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปเฮ็ดนากินข้าวก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไปปั้นเบ้าหล่อเงินทองก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปขายของอยู่ในตลาด ก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปเบิ่งนักปราชญ์ เจ้าก่อสร้างกระทำบุญ ก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปนำดอมขุนและยศใหญ่ ก็ให้มามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่สุขสมสร้างกินทานทุกเช้าค่ำ เชิญขวัญหัวเกษเกล้าให้ยืนหมั่นหมื่นปี อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ฯ  

โอกาสในการจัดพิธีกรรม
พิธีบายศรีสู่ขวัญสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ตามลักษณะและโอกาสที่ใช้ในการประกอบพิธี คือ พิธีกรรมการสู่ขวัญในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต การเซ่นสรวง และสำหรับผู้ที่หายจากการเจ็บป่วย

1. การสู่ขวัญในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต


1.1 การสู่ขวัญเด็กแรกเกิด
พิธีสู่ขวัญเด็กแรกเกิดเป็นการสู่ขวัญทารกที่ถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่เด็กและพ่อแม่ โดยเฉพาะแก่แม่ที่ถือว่าผ่านอันตรายหลังจากการคลอดบุตร ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิง

1.2 การสู่ขวัญนาค
ผู้ชายที่นับถือศาสนาพุทธเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท ผู้ที่ประสงค์จะอุปสมบทต้องขออนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็จะกำหนดวันประกอบพิธีสู่ขวัญนาคขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล

1.3 การสู่ขวัญพระภิกษุสงฆ์
พิธีสู่ขวัญพระภิกษุสงฆ์เป็นการสู่ขวัญที่ชาวบ้านร่วมกันจัดให้กับพระในวัดของหมู่บ้านในโดกาสที่ได้รับตำแหน่งหรือสมณศักดิ์สูงขึ้น

1.4 การสู่ขวัญในการแต่งงาน
พิธีสู่ขวัญในการแต่งงานจัดขึ้นในโอกาสที่หนุ่มสาวตกลงใจที่จะอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยา เมื่อผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมกันก็จัดพิธีแต่งงานตามขั้นตอนหรือตามวัฒนธรรมในสังคมนั้น ซึ่งพิธีการแต่งงานจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นขั้นตอนหนึ่งของพิธีกรรมด้วย

1.5 การสู่ขวัญพระพุทธรูป
พิธีสู่ขวัญพระพุทธรูปเป็นพิธีจัดขึ้นภายหลังจากการประกอบพิธีเผาศพของชาวกูย เมื่อเจ้าภาพได้ประกอบพิธีเผาศพเรียบร้อยแล้วก็จะจัดพิธีสู่ขวัญพระพุทธรูปที่ใช้ในการประกอบพิธีด้วย เพราะเมื่อมีคนตายถือว่าเป็นสิ่งไม่เป็นมงคลกับบ้านที่อาศัยอยู่ชาวกูยจึงจัดพิธีสู่ขวัญพระพุทธรูปถวายวัดเพื่อลบล้างสิ่งไม่เป็นมงคล

1.6 การสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคล
พิธีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นการสู่ขวัญเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในครอบครัวหรือญาติผู้ใหญ่ เช่น 

            1.6.1 เมื่อมีญาติผู้ใหญ่ หรือ ผู้ที่เจ้าของบ้านมีความเคารพนับถือเดินทางมาจากจังหวัดอื่นเข้ามาในหมู่บ้านหรือเข้ามาอาศัย ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็จัดงานพิธีบายศรีสู่ขวัญให้ 

            1.6.2 เมื่อมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ย้ายเข้ามารับตำแหน่งที่สำคัญ หรือ ผู้มีตำแหน่งราชการสูงพ้นจากหน้าที่การงานหรือย้ายออกไป ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ที่เคารพรักก็จะร่วมกันจัดงานพิธีบายศรีสู่ขวัญส่งให้ท่านที่จากไปมีขวัญและโชคดี

            1.6.3 ผู้ชายที่อยู่ในหมู่บ้านเมื่อถูกเกณฑ์ทหารพ่อแม่หรือญาติพี่น้องก็จะหาหมอขวัญมาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อให้ลูกหลานมีขวัญและกำลังใจดีในการเดินทางไปรับราชการทหารเกณฑ์ และเมื่อลูกหลานเป็นทหารครบสองปีแล้วก็เดินทางกลับมาบ้านพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ก็จะติดต่อเชิญหมอขวัญมาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญรับขวัญลูกหลานที่กลับมาอยู่บ้านให้มีขวัญดีมีสิริมงคล

            1.6.4 หากเป็นบุคคลที่มาจากต่างจังหวัดเข้ามาพักอยู่ในหมู่บ้านและได้อุปสมบทเมื่อบวชเสร็จแล้วก็จะลงศาลามาร่วมกับพระเก่าที่ในวัดเพื่อสวดมนต์เย็น 3 วันรุ่งขึ้นวันที่ 4 เจ้าภาพที่ทำการบวชให้ก็จะจัดภัตตาหารมาถวายพระใหม่และพระเก่าเป็นการฉลองพระเมื่อพระฉันเสร็จแล้วเจ้าภาพถวายธูป เทียน ดอกไม้ และจตุปัจจัย และจัดทำพิธีบายศรีสู่ขวัญรับพระใหม่มีหมอขวัญที่สูงอายุอยู่ในหมู่บ้านมาเป็นเจ้าพิธีก็จะร้องแหล่เป็นสำเนียงและภาษาที่นิยมของหมู่บ้านนั้น 

            1.6.5 เมื่อนักเรียนหรือนักศึกษาที่จะจบการศึกษาก็จะให้หมอขวัญมาทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

2 การสู่ขวัญในการเซ่นสรวง


2.1 การสู่ขวัญข้าวเปลือก


             พิธีสู่ขวัญข้าวเปลือกจัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว คือประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดยชาวบ้านทุกครัวเรือนจะนำข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งจากยุ้งหรือเล้าข้าวของตนมากองรวมกันที่วัดและก่อเป็นเจดีย์ข้าวเปลือก แล้วทำพิธีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอขมาแม่โพสพ ข้าวขายได้ราคาดีและสามารถเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมากขึ้นในฤดูกาลต่อไป

2.2 การสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่


            พิธีการสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่จัดขึ้นเมื่อย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่หรือสร้างบ้านหลังใหม่เสร็จและก่อนที่จะเข้าพักอาศัยจะต้องจัดพิธีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านตามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ที่ดินและไม้ที่นำมาสร้างบ้านมักมีเจ้าของรักษาอยู่ เมือจะเข้าพักอาศัยหรือประกอบกิจกรรมใด ๆ จึงต้องประกอบพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลหรือเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวงออกไปก่อนที่จะเข้าพักอาศัยจึงจะทำให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ

2.3 การสู่ขวัญสำหรับผู้ป่วย


            การเจ็บป่วยเกิดจากการมีเคราะห์หรือเกิดจากการกระทำที่ผิตจารีคประเพณีของชุมชนหรือลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือและชาวบ้านเชื่อว่าผู้ที่เจ็บป่วยอยู่นั้นขวัญหรือสภาพจิตใจไม่เป็นปกติอาจไปตกหล่นอยู่ ณ ที่หนึ่งจึงต้องประกอบพิธีกรรมการสู่ขวัญ เพื่อเรียกให้ขวัญกลับมาอยู่ร่างกายของผู้ป่วยตาเดิม พิธีกรรมการสู่ขวัญสำหรับผู้ป่วยมี 2 พิธีดังนี้

            2.3.1 สู่ขวัญสะเดาะเคราะห์ เป็นการสู่ขวัญผู้ป่วยที่หายจากการเจ็บป่วยแล้ว และเป็นการเรียกขวัญผู้ป่วยที่เชื่อว่าหายไปขณะที่ป่วยนั้นให้กลับมาเหมือนเดิม
            2.3.2 ส้อนขวัญผู้ป่วย คำว่าส้อน หมายถึง การช้อนหรือการตัก ดังนั้นการส้อนขวัญก็คือช้อนหรือตักขวัญ ซึ่งเป็นการสู่ขวัญของผู้ป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุของความเจ็บป่วยและบอกให้ทราบว่าขวัญไปตกหล่นอยู่ที่ใด ญาติก็จะไปประกอบพิธีกรรมการส้อนขวัญ ณ สถานที่หมอดูได้บอกไว้ เมื่อประกอบพิธีส้อนขวัญเสร็จแล้วก็เชื่อว่าทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการนั้น ๆ ได้ 


ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม


          ก่อนที่จะเริ่มพิธีการได้นั้นเจ้าของขวัญหรือเจ้าภาพนั้นจะต้องไปติดต่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดงานและขอวันเวลาที่จะจัดกับหมอสูตรหรือพ่อพราหมณ์ ซึ่งเมื่อได้วันเวลาที่เป็นมงคลแล้ว เจ้าภาพก็จะไปดำเนินการ “บอกบุญ” ให้แก่ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และคนที่เคารพนับถือ จากนั้นก็จะมีการเตรียมสถานที่ พานบายศรี เครื่องเซ่น และฝ้ายผูกแขน เมื่อถึงวันที่จะจัดพิธีเจ้าของขวัญก็จะต้องไปเชิญพ่อพราหมณ์มาเพื่อที่จะประกอบพิธี ก็ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว พิธีการก็จะเริ่มขึ้น ดังนี้

          1. พ่อพราหมณ์จะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งหันหน้าตามทิศที่เหมาะสม เพื่อเป็นสิริมงคล โดยพ่อพราหมณ์จะนั่งจะนั่งตรงข้ามกับเจ้าของขวัญ ส่วนพ่อแม่จะนั่งทางทิศเหนือของเจ้าของขวัญ และญาติพี่น้องและผู้ร่วมงานจะนั่งล้อมรอบ โดยมีพานบายศรี เครื่องเซ่น พ่อพราหมณ์และเจ้าของขวัญจะนั่งอยู่ตรงกลาง

         2. เจ้าของขวัญจะผูกฝ้ายผูกแขนที่เตรียมไว้ให้แก่พราหมณ์ เพื่อเป็นการบูชาครู โดยฝ้ายที่ใช้ผูกนั้นก็จะมีการมัดธนบัตรเป็นค่าบูชาพราหมณ์ จะจำนวนมากจำนวนน้อยก็แล้วแต่เจ้าของขวัญจะเห็นสมควร

         3. เมื่อผูกฝ้ายเสร็จแล้ว พ่อพราหมณ์ก็จะคลี่ฝ้ายที่เตรียมไว้ที่พานบายศรี แล้วดึงฝ้ายให้โอบล้อมผู้คนในพิธีทั้งหมด

         4. จากนั้นเจ้าของขวัญก็จะยกมือไหว้พ่อพราหมณ์ แล้วใช้มือขวาจับพานบายศรีและตั้งจิตอธิษฐานขอให้เทวดาบันดาลให้เป็นไปตามที่พ่อพราหมณ์ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และผู้ร่วมงานก็จะจับฝ้ายแล้วอธิษฐานให้เจ้าของขวัญเช่นกัน

          5. พ่อพราหมณ์ก็จะเริ่มจุดธูปเทียนปักลงในพานบายศรี ยกขัน 5 ขึ้น แล้วกล่าวว่า “นโม...” 3 จบ และกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยต่อ

          6. จากนั้นพ่อพราหมณ์ก็จะทำการป่าวเทวดา (ชุมนุมเทวดา) ซึ่งเป็นการกล่าวคำอัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างร่วมลงมาเป็นเกียรติและเป็นสักขีพยานในพิธี โดยพ่อพราหมณ์จะยกขันน้ำมนต์ขึ้นตั้งข้างหน้าตนเอง แล้วจุดเทียนคีงหรือเทียนที่ใช้เป็นตัวแทนของเจ้าของขวัญแล้วนำไปปักที่ขันน้ำมนต์ พร้อมกับกล่าวคำเชิญเทวดาเป็นภาษาบาลีว่า “สัค เค กา เม จ รูเป ...”

         7. เมื่อทำการป่าวเทวดาเสร็จ พ่อพราหมณ์ก็จะเริ่มทำการสูตรขวัญ โดยจะใช้คำสูตรขวัญประเภทอะไร ก็ให้เลือกเอาตามความเหมาะสมของพิธีที่จัด เช่น เป็นบายศรีสู่ขวัญแต่งงาน ก็จะต้องใช้คำสูตรขวัญแต่งงาน เป็นต้น

 

สัญลักษณ์และความหมายของเครื่องประกอบพิธีกรรม


 เครื่องประกอบพิธีกรรมสำหรับบำรุงขวัญ
 

           ไข่ต้ม เครื่องประกอบพิธีกรรมที่มีความสำคัญคือ เป็นเครื่องประกอบที่ใช้เสี่ยงทายภายหลังเมื่อประกอบพิธีเสร็จแล้ว กล่าวคือ เมื่อหมอขวัญประกอบพิธีเสร็จแล้ว หมอขวัญจะปลอกเปลือกไข่ต้ม และผ่าออกเป็น 2 ซีก เพื่อทำนายว่าเมื่อภายหลังประกอบพิธีเสร็จแล้ว ต่อไปเจ้าของขวัญจะมีความสุขหรือไม่อย่างไร ถ้าผ่าไข่ออกแล้วผิวเรียบสวยงาม ไข่แดงและไข่ขาวเต็มฟอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขวัญที่มีอาการครบสมบูรณ์ หมอขวัญก็จะทำนายว่า เจ้าของขวัญจะมีความสุข สบาย ไม่มีโรคภัย แต่ถ้าไข่อยู่ในลักษณะตรงกันข้ามก็อาจทำให้เจ้าของขวัญไม่สบาย และมีทุกข์ภัยในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดีเช่นนี้ หมอขวัญจะมีวิธีแก้ไขคือ การประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์อีกครั้ง จะทำให้เจ้าของขวัญมีกำลังที่ดีขึ้น

           นอกจากความสำคัญของไข่ที่เป็นสัญลักษณ์แทนการเสี่ยงทายแล้ว ไข่ยังมีความหมายและมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับขวัญ คือ ไข่มีความหมายแทนชีวิตที่เกิดใหม่ภายหลังการประกอบพิธีกรรมแล้วเหมือนกับการทำขวัญนี้ ทำให้ร่างกายอยู่ได้ตามปกติ ซึ่ง วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ (2525 : 83 ) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของไข่และขวัญในแง่ความหมายว่า “ไข่ เป็นสัญลักษณ์แทนขวัญ ทั้งนี้ไข่และขวัญมีสัญลักษณ์คล้ายคลึงกันคือ ไข่มีเปลือกหุ้ม ในขณะที่ขวัญมีร่างกายหุ้มห่ออีกทั้งไข่เป็นต้นกำเนิดของของชีวิต เป็นที่มาของชีวิต ในทำนองเดียวกันกับความเชื่อที่ว่า ขวัญคือสิ่งที่ทำให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ” เจ้าของขวัญจะรับประทานไข่ต้มเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงถือว่าขวัญได้กลับเข้าสู่ร่างกาย ส่วนไข่ที่ไม่สวยงามมีลักษณะไม่ดีก็จะไม่รับประทาน แต่หมอขวัญจะนัดวันทำพิธีสะเดาะเคราะห์ก่อนดังที่กล่าวข้างต้น

            ไก่ เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมที่มีความสำคัญคือ ใช้สำหรับเสี่ยงทาย โดยใช้บริเวณคางไก่ เป็นเครื่องเสี่ยงทาย เมื่อประกอบพิธีเสร็จแล้วหมอขวัญจะแกะตรงกระดูกคางไก่ออก หยิบเอาบริเวณคางไก่ออกมาเสี่ยงทายถ้าคางไก่ซึ่งมีกระดูก 2 ชิ้น ชี้ออกมามีลักษณะงุ้มงอ สวยงาม ก็ทำนายว่าเจ้าของขวัญจะมีโชค มีความสุข ถ้าคางไก่ปรากฏในลักษณะตรงข้าม คือ กระดูกไม่ชี้ออกทั้ง 2 ข้าง หมอขวัญก็จะประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อแก้เคล็ด

 ใบไม้มงคลต่าง ๆ


            ดอกไม้ ใบเตย ใบคูณ ใบยอ ใบบัว หญ้าคา หญ้าแพรก ดอกเงินดอกทอง ใบมะพร้าว เป็นพืชที่มีชื่อเป็นความสิริมงคล ใบไม้ที่กล่าวมาแล้วเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมที่มีความสำคัญในการทำน้ำมนต์และบายศรี การนำพืชที่มีชื่อมงคลมาประกอบพิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์แทนความต้องการให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองกับเจ้าของขวัญ

ใบเตย เป็นสัญลักษณ์แทนความสดชื่น รื่นรวย เพราะเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม
ใบคูณ เป็นสัญลักษณ์แทนความยั่งยืน ค้ำคูณ คุ้มครองปลอดภัย
ใบมะยม เป็นสัญลักษณ์แทนความนิยมชมชอบ และการยอมรับ
ใบยอ เป็นสัญลักษณ์แทนการยกยอ ชมเชย นับถือ สรรเสริญ
ใบบัว เป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ ไม่มีมลทินใด ๆ มาเป็นอุปสรรคในระหว่างการประกอบพิธี
ดอกเงินดอกทอง เป็นสัญลักษณ์แทนความร่ำรวยมั่งมี
หญ้าคา เป็นสัญลักษณ์แทนความอดทน ยั่งยืน
หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์แทนความอดทน
ใบมะพร้าว เป็นสัญลักษณ์แทนความแข็งแรง ยืนยาว 

 

 

เครดิตข้อมูบจาก เว็บ sites.google.com/site/kmsaengthammnat/prawati-khwam-pen-ma

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้