บุญ กับวิธีทำบุญ

บุญ กับวิธีทำบุญ

บุญ 

                   ในพระพุทธศาสนา บุญ (บาลี: ปุญฺญ; สันสกฤต: ปุณฺย) หมายถึง คุณงามความดี ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ เรียกอีกอย่างว่ากุศล ในพระไตรปิฎกมักใช้คำว่า ปุญฺญ ตรงกันข้ามกับคำว่า บาป หรือ อปุญฺญ แต่ในคัมภีร์ชั้นหลังมักใช้คำว่า บาปมากกว่ากัน

                   ในอรรถกถากล่าวถึงเผื่อแผ่บุญไว้ว่าสามารถเผื่อแผ่เพิ่มให้แก่ผู้อื่นได้โดยไม่มีประมาณ เปรียบได้กับการจุดเทียนส่งต่อไปเรื่อย ๆ คือผู้จุดก็มีความสว่างอยู่ตามเดิม และความสว่างยังเพิ่มไปอีกกว้างขวางได้

วิธีทำบุญ


ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ระบุวิธีการทำบุญไว้ 3 อย่าง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ได้แก่

1. ทานมัย ด้วยการให้

ทาน หมายถึง การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ วัตถุที่พึงให้

ทานที่แปลว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หมายถึงการให้ทานด้วยจิตใจที่ดีงาม มุ่งเพื่อบูชาพระคุณ เช่นที่ให้แก่บิดามารดา ถวายแก่พระสงฆ์ เป็นต้นบ้าง มุ่งเพื่อสงเคราะห์ เช่นที่ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนทั่วไปด้วยความกรุณาสงสารบ้าง

ทานที่แปลว่า วัตถุที่พึงให้ ย่อมาจาก "ทานวัตถุ" หมายถึงสิ่งของสำหรับให้สำหรับเสียสละให้ผู้อื่น ได้แก่สิ่งของที่ถวายพระ สิ่งของที่ควรนำไปให้เพื่อตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่นพ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่าไทยทาน บ้าง ไทยธรรม บ้าง มี 10 อย่าง ทานสูตร ได้แก่ อาหาร, น้ำ, เครื่องนุ่งห่ม, ยานพาหนะ, มาลัยและดอกไม้, ของหอม (ธูปเทียน), เครื่องลูบไล้ (สบู่เป็นต้น), ที่นอน, ที่อยู่อาศัย, และประทีป (ไฟหรือไฟฟ้า) การให้ทานวัตถุ 10 อย่างนี้มีผลอานิสงส์มากเพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญ ด้วยจิตใจที่ดีงาม

ทานเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ทานมัย" คือบุญที่เกิดจากการให้ เป็นสังคหวัตถุ คือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ และเป็นบ่อเกิดแห่งบารมีที่เรียกว่า ทานบารมี

การให้ทานมีวัตถุประสงค์สำคัญในการคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความ ใส สว่าง สะอาดของจิตใจขึ้นมา

ประเภทของทาน
1. อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ข้าว(อาหาร)และน้ำเป็นทรัพย์โดยปรมัตถ์ สิ่งอื่นเป็นทรัพย์โดยบัญญัติเพราะเกิดจากการสมมุติของของคนที่ทำให้เกิดความจำเป็น เช่น เสื้อผ้าถ้าใส่กันอาย เงินทองเพชรที่กินไม่ได้และไม่มีประโยชน์ (อามิสแปลว่าวัตถุสิ่งของ)
2. ธรรมทาน คือการให้ที่ไม่เป็นวัตถุสิ่งของ ได้แก่ ให้สติ ให้ธรรมะ สอนคุณธรรม ให้กำลังใจ ให้อภัย(อภัยทาน) ให้วิทยาทาน
3. อภัยทาน คือการยกโทษด้วยการไม่พยาบาทจองเวร บัณฑิตกล่าวเป็นทานที่ให้ได้ยากที่สุด โดยเฉพาะการให้อภัยศัตรูหรือผู้ที่ทำร้ายตนอย่างสาหัส


2. ศีลมัย ด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย

ศีล (บาลี: สีล) คือข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข เพื่อให้เป็นกติกาข้อห้ามที่ใช้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน 5 ปัญหาหลัก ซึ่งทำให้เกิดความสงบสุข และ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในสังคม

ประโยชน์ของศีลในขั้นพื้นฐานคือทำให้กาย วาจา ใจ สงบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ง่ายในการทำสมาธิ ในระดับของบรรพชิต ศีลจะมีจำนวนมาก เพื่อกำกับให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรสามารถครองตนในสมณภาวะได้อย่างสมบูรณ์ และเอื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นสูงต่อไปได้

ความหมายของศีลนั้นแปลได้หลายความหมาย โดยศัพท์แปลว่า ความปกติกายวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ และยังมักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า "อธิศีลสิกขา" อันได้แก่ข้อปฏิบัติขั้นต้นเพื่อการฝึกตนในทางพระพุทธศาสนาด้วย.


3. ภาวนามัย ด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ

ภาวนา แปลว่า การเจริญ การอบรม การทำให้มีให้เป็นขึ้น หมายถึง การทำจิตใจให้สงบและทำปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตไปตามแบบที่ท่านกำหนดไว้ ซึ่งเรียกชื่อไปต่างๆ เช่น การบำเพ็ญกรรมฐาน การทำสมาธิ การเจริญภาวนา การเจริญจิตภาวนา

ภาวนา ในทางปฏิบัติท่านแบ่งไว้ ๒ แบบใหญ่ๆ คือ

สมถภาวนา การอบรมจิตใจให้สงบ ซึ่งได้แก่สมถกรรมฐานนั่นเอง เรียกว่า จิตภาวนา ก็ได้
วิปัสสนาภาวนา การอบรมปัญญาให้เกิด ซึ่งได้แก่วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เรียกว่า ปัญญาภาวนา ก็ได้
ภาวนา เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่าภาวนามัย คือบุญที่เกิดจากการภาวนา

 

คัมภีร์ สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสังคีติสูตร ขยายความเพิ่มอีก 7 ประการ

จึงรวมเป็น บุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่

1. อปจายนมัย ด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
2. เวยยาวัจจมัย ด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
3. ปัตติทานมัย ด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
4. ปัตตานุโมทนามัย ด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
5. ธัมมัสสวนมัย ด้วยการฟังธรรม
6. ธัมมเทสนามัย ด้วยการสั่งสอนธรรม
7. ทิฏฐุชุกัมม์ ด้วยการทำความเห็นให้ตรง


            อปจายนมัยและเวยยาวัจจมัยจัดเข้าในสีลมัย ปัตติทานมัยและปัตตานุโมทนามัยจัดเข้าในทานมัย ธัมมัสสวนมัยและธัมมเทสนามัยจัดเข้าในภาวนามัย 9 ทิฏฐุชุกัมม์ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา

 

อ้างอิง
 - พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
 - พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
 - Marasinghe, MMJ (2003). "Puñña". In Malalasekera, GP; Weeraratne, WG. Encylopaedia of Buddhism (ใน ภาษาอังกฤษ) 7. สาธารณรัฐศรีลังกา: รัฐบาลศรีลังกา.
 - อรรถกถาพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๕ ประวัติพระอนุรุทธเถระ . อรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1-7-52
 - ปุญญกิริยาวัตถุสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย
 [http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=11&i=221&p=3 อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร]
- พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้