เผยตำนาน "ดวงจิตแห่งพระพรหมเอราวัณ" ที่แท้จริงคือ..

เผยตำนาน "ดวงจิตแห่งพระพรหมเอราวัณ" ที่แท้จริงคือ..

เผยตำนาน "ดวงจิตแห่งพระพรหมเอราวัณ" ที่แท้จริงคือ.."ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระปิ่นเกล้า" พระบารมีล้นเกล้าดับอาถรรพ์โรงแรมเอราวัณ !!

ด้วยพระชะตาอันแรงกล้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าจุฑามณี” เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” เมื่อมีผู้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญ "สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์" พระอนุชาขึ้นครองราชย์พร้อมกันไปด้วย  พร้อมทั้งทำพิธีพระบวรราชาภิเษกเสมอด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์ไทย ที่น้อยคนนักจะได้รู้เกี่ยวกับการสร้าง "พระพรหมเอราวัณ" กลางเมืองหลวงเพื่อดับอาถรรพณ์นั้น มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับดวงจิตวิญญาณของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ท่านทรงปกปักคุ้มครองบ้านเมือง ในนาม “พระพรหมเกศโร” หรือที่เราๆ รู้จักกันว่า “พระพรหมเอราวัณ”

จุดกำเนิดของพระพรหมเอราวัณนี้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่าในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ทาง บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม

           พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม

แท้จริงแล้วองค์พระพรหมองค์นี้มีนามว่า "ท้าวมหาพรหมเกศโร" หรือ "ท่านพ่อเกศโร" ซึ่งก็คือ "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" น้องชายแท้ๆ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ที่มีดวงพระชาตาแรงกล้ายิ่งนัก ทั้งเก่งเรื่องคาถาอาคมตลอดจนวิทยาการแบบตะวันตก ที่มานั้นสืบเนื่องจากตอนประกอบพิธีเชิญดวงพระวิญญาณ ผู้เชิญในยุคนั้นคือ "คุณหลวงสุวิชาญ" ท่านมีความสามารถในการติดต่อโลกทิพย์มีหูทิพย์ตาทิพย์เป็นที่เลื่องลือยิ่งนัก



           เมื่อครั้งนั้นท่านได้ติดต่ออาราธนาบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าหรือท่านพ่อเกศโรมหาพรหม ให้แผ่บารมีสถิตย์ดับอาถรรพ์นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่สถานที่แห่งนี้พร้อมทั้งผู้สักการะบูชา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่องลือในวิทยาคมมาตั้งแต่เป็น “เจ้าฟ้าจุฑามณี” ร่ำลือกันต่างๆนาๆว่า ล่องหนหายตัวบ้าง เดินบนน้ำบ้างและอีกสารพัด ผู้ชำนาญในวิทยาคมย่อมแก่กล้าในด้านสมถะภาวนา เรื่องสมาธิฌานนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องเหนือความสามารถ

ดังนั้นคุณหลวงสุวิชาญผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์ในยุคนั้น ได้ติดต่อกับดวงพระวิญญาณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า จึงทราบว่าพระองค์ขึ้นไปอุบัติเป็น "ท้าวมหาพรหมเกศโร" มีเดชศักดายิ่งนัก เมื่อคราวโรงแรมเอราวัณประสบอาถรรพ์จึงสร้างพระพรหมแล้วเชิญบารมีท่านพ่อเกศโรมาดับอาถรรพ์ ในยุคนั้นคุณหลวงสุวิชาญยังได้มาสร้างพระบวรนุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าโรงละครแห่งชาติในปัจจุบันด้วยแล้วเชิญพระบารมีแห่งท่านพ่อเกศโรมหาพรหมลงสถิตย์เป็นมิ่งขวัญสิริมงคล

นอกจากนี้ในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ศาลถูกชายมุสลิมใช้ค้อนทุบทำลายซึ่งทำให้ตัวองค์แตก ดังนั้นจึงมีกำหนดการที่จะบูรณะพระองค์ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสร้างองค์ใหม่ด้วย แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน

           มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ได้ทำพิธีอัญเชิญองค์ท่านท้าวมหาพรหม ที่บูรณะเสร็จแล้วกลับมาประดิษฐานที่เทวาลัย ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๑.๓๙ น. ซึ่งเป็นเวลาที่องศาของดวงอาทิตย์ส่องตรงศาลพอดี โดยอัญเชิญเป็นขบวนจากกรมศิลปากรมาจนถึงศาลท้าวมหาพรหม ส่วนชายผู้ที่ใช้ค้อนทุบทำลายศาลดังกล่าว ภายหลังเกิดเหตุได้ถูกผู้เห็นเหตุการณ์ทุบตีจนเสียชีวิต

 
ที่มาจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/ศาลท้าวมหาพรหม_โรงแรมเอราวัณ
              https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
              palungjit.org

ขอบคุณภาพ : HoroGuide.com


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้